แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บันทึกจากเจ้าอาวาส
ลำดับที่ ๒๙/๒๕๕๖
                                              


                                                                 ปัญญาปริหารกถา
                                               ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
                                         ในวโรกาสครบ ๒๔ ปี การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
                                                     และเริ่มงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี
                              สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
                                                       ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
                                                      วันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖
                                                    พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
                      กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
                                                          รับพระราชทานถวาย


                                                  ***********************
 
                                              นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
                                             ธีโร จ พลวา สาธุ         ยูถสฺส ปริหารโกติ

            บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในปัญญาปริหารกถา ว่าด้วยการบริหารด้วยปัญญา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี เป็นปสาทนียกถา อนุโมทนาในพระราชกุศลที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานพระมหากรุณาให้การจัดงานบำเพ็ญกุศล ๒๔ ปี การสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
             การจัดงานบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้ปรารภมหาศุภมงคลวโรกาสที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ ถึงบัดนี้ พุทธศักราช ๒๕๕๖ รวมเวลาที่ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๒๔ ปี นับว่าทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชยาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชในอดีตที่ผ่านมา ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญยาวนานกว่าพระสงฆ์รูปอื่น  คือ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ๒๔ ปี และทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ๕๑ ปี กอปรกับในวันที่ ๓ ตุลาคม ปีนี้ จะทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรจึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย
             เนื่องในมหาศุภมงคลวโรกาสนี้ คณะรัฐบาลและคณะสงฆ์ได้ร่วมกันจัดงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ซึ่งเป็นการจัดงานบำเพ็ญกุศล ๒๔ ปี การสถาปนา เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ภายใต้การอำนวยการของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เมื่อความทราบถึงสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จึงพระราชทานพระมหากรุณาให้การจัดงานบำเพ็ญกุศลครั้งนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้ด้วยทรงรำลึกถึงด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมว่าเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นพระอภิบาลหรือพระพี่เลี้ยงขณะที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ และทรงพระอนุสรณ์ด้วยพระราชศรัทธาที่มั่นคงว่า การที่ได้ทรงโปรดสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๒ นั้นได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ พระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอเนกประการ
             นับแต่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้นมา เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำและผู้บริหารของพุทธบริษัทได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ กล่าวคือ ในฐานะองค์สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำของพุทธบริษัทซึ่งรวมถึงคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุตและฝ่ายมหานิกายด้วยการที่ทรงดำรงมั่นอยู่ในพรหมวิหารธรรม และในฐานะองค์ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงบริหารกิจการคณะสงฆ์ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยวิธีการวางนโยบายและกระจายอำนาจให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับชั้นช่วยกันรับภารธุระพระศาสนา
             การรู้จักกระจายอำนาจเป็นลักษณะสำคัญของนักบริหารที่ดี ทั้งนี้เพราะนักบริหารเป็นผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น สมดังพระบาลีในนาถสูตรว่า “อลํ กาตุํ (อาจทำ)  อลํ สํวิธาตุํ (อาจจัดได้)" มีคำของพระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความไว้ว่า คำว่า “อลํ  กาตุํ (อาจทำ)"  หมายถึงว่า "สามารถทำได้เอง" ส่วนคำว่า "อลํ  สํวิธาตุํ (อาจจัดได้)" หมายความว่า "สามารถจัดการให้คนอื่นทำได้" ดังนั้น  เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบริหารงานพระศาสนาด้วยการที่ทรงงานเองบ้าง ทรงจัดการให้คนอื่นทำงานแทนบ้าง การบริหารกิจการพระศาสนาจึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
             เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้ทรงบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์อย่างไพศาลทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้เพราะทรงบริหารกิจการพระศาสนาด้วยพระปรีชาสามารถโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการและการสาธารณสงเคราะห์ การที่ทรงใช้พระปัญญานำหน้าการบริหารเช่นนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของกิจการพระศาสนาโดยรวม สมดังพระบาลีที่รับพระราชทานอัญเชิญขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า ธีโร จ พลวา สาธุ เป็นต้นแปลความว่า “บุคคลผู้มีปัญญาและมีกำลังได้บริหารหมู่คณะ นับเป็นการดี”
             ขอรับพระราชทานถวายวิสัชนาว่า  บุคคลผู้ประสงค์จะเป็นผู้นำหรือผู้บริหารหมู่คณะต้องมีกำลังอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในบรรดากำลัง ๕ ประการ คือ (๑) พาหุพละ กำลังแขนหรือกำลังกาย (๒) โภคพละ กำลังทรัพย์ (๓) อมัจจพละ กำลังอำมาตย์หรือกำลังบริวาร (๔) อภิชัจจพละ กำลังชาติตระกูลสูง  และ (๕) ปัญญาพละ กำลังปัญญา
             บุคคลบางคนได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้าเพราะมีพาหุพละคือกำลังกายแข็งแรงกว่าคนทั้งปวง บางคนได้เป็นหัวหน้า เพราะมีโภคพละคือมีทรัพย์สินเงินทองมากมายเป็นกำลังในการหาเสียงสนับสนุน บางคนได้เป็นหัวหน้าเพราะมีอมัจจพละคือมีข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือนสนับสนุน บางคนได้ให้เป็นหัวหน้า เพราะมีอภิชัจจพละคือความเป็นทายาทในตระกูลที่สูงศักดิ์ อย่างไรก็ตาม บุคคลผู้มีกำลังทั้งสี่ประการดังกล่าวมาจะสามารถขึ้นเป็นใหญ่กว่าคนทั้งปวงได้ก็ต้องมีปัญญาพละคือกำลังปัญญาสนับสนุน ถ้าขาดกำลังปัญญาเสียแล้วก็เป็นการยากที่บุคคลนั้นจะขึ้นเป็นใหญ่หรือถ้าได้เป็นใหญ่แล้วก็ยากอย่างยิ่งที่จะเป็นใหญ่อยู่ได้นาน ดังนั้น สำหรับผู้ประสงค์จะเป็นผู้นำและผู้บริหาร กำลังปัญญาจึงสำคัญกว่ากำลังทั้งปวง ดังพระบาลีว่า อคฺคํ ปญฺญาพลํ วรํ แปลความว่า กำลังปัญญาประเสริฐสุดกว่ากำลังทั้งหลาย
ปัญญาในที่นี้ ท่านหมายถึงปาริหาริกปัญญาคือปัญญาสำหรับบริหารกิจการทั้งปวง
              ขอรับพระราชทานถวายวิสัชนาต่อไปว่า  คำว่า ปัญญา แปลว่าความรอบรู้ หมายถึงความรู้สองประการ คือความรู้รอบและความรู้ลึก
ประการแรก ปัญญาเป็นความรู้รอบหมายถึงความรู้ที่เป็นระบบเชื่อมโยงถึงกัน ดังเช่นความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ว่าสิ่งทั้งหลายอิงอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น หรือความรู้ในสัปปุริสธรรมสองข้อแรกที่ว่า ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ อัตถัญญุตา รู้จักผล
             ที่ว่า รู้จักเหตุ ก็คือว่า เมื่อเห็นผลก็รู้ได้ทันทีว่ามาจากเหตุอะไร ความรู้นี้ทำให้ผู้นำและผู้บริหารสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ทันท่วงที   ส่วนที่ว่า รู้จักผล หมายถึงว่า เมื่อเห็นเหตุก็คาดได้ว่าผลอะไรจะตามมา เป็นความรู้เท่าทันที่ทำให้ผู้นำและผู้บริหารสามารถป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ให้ลุกลามต่อไปจนกลายเป็นกรณีน้ำผึ้งหยดเดียว ดังนั้นปัญญาความรู้รอบจึงทำให้เกิดความรู้เท่าทัน นั่นคือ รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข
             ประการต่อมา ปัญญาเป็นความรู้ลึกหมายถึงความรู้แจ้งแทงตลอดไปถึงเบื้องหลังแห่งปรากฏการณ์ทั้งปวง ดังเช่น ความรู้ตามหลักไตรลักษณ์  ที่ว่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง ทุกขังคือเป็นทุกข์ และอนัตตาคือไม่มีแก่นสารถาวร ปัญญาความรู้ลึกเช่นนี้ช่วยให้ผู้นำและผู้บริหารสามารถใช้คนให้เหมาะกับงานเพราะเขาอ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น เห็นคนชัด
ที่ว่า กำลังปัญญาประเสริฐกว่ากำลังทั้งหลาย หมายความว่า ผู้นำและผู้บริหารที่มีกำลังปัญญาสนับสนุนแม้จะมีกำลังกาย กำลังทรัพย์ หรือกำลังบริวารน้อยกว่าย่อมสามารถเอาชนะเหนือคู่แข่งที่มีกำลังกาย กำลังทรัพย์ หรือกำลังบริวารมากกว่าได้ ดังเรื่องกระต่ายกับช้างซึ่งขอรับพระราชทานสาธกดังต่อไปนี้
             อดีตกาลนานมาแล้ว กระต่ายฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้สระน้ำขนาดใหญ่ในป่าแห่งหนึ่ง กระต่ายฝูงนี้อาศัยดื่มน้ำในสระอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่งช้างโขลงหนึ่งอพยพหนีภัยแล้งจากที่อื่นมาอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและลงไปดื่มน้ำในสระนั้น เวลาช้างทั้งหลายเดินไปยังสระน้ำได้เหยียบลงไปบนโพรงกระต่ายทำให้กระต่ายหลายตัวถึงแก่ความตาย ฝูงกระต่ายประชุมกันแล้วมีมติว่าจะอพยพหนีโขลงช้างไปอยู่ที่อื่น แต่กระต่ายหัวหน้าฝูงขอร้องให้กระต่ายทุกตัวอดทนรอไปก่อน กระต่ายหัวหน้าฝูงประกาศว่าตนเองจะใช้กำลังปัญญาขับไล่โขลงช้างให้เป็นฝ่ายอพยพหนีไปให้จงได้ กระต่ายทั้งหลายต่างสงสัยว่าหัวหน้าตัวเล็กจะขับไล่ช้างตัวใหญ่ให้หนีไปได้อย่างไร
             วันต่อมา กระต่ายผู้เป็นหัวหน้าฝูงนั้นได้ไปนั่งรออยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่จนกระทั่งโขลงช้างเดินผ่านมา  กระต่ายได้กล่าวกับพญาช้างหัวหน้าโขลงว่า ฝูงกระต่ายของตนเป็นที่โปรดปรานของเทพจันทราดังจะเห็นได้ว่าภาพกระต่ายประทับอยู่บนดวงจันทร์ บัดนี้ เทพจันทราพิโรธโขลงช้างที่เหยียบย่ำทำลายฝูงกระต่ายจึงจะสาปแช่งให้โขลงช้างประสบความพินาศวอดวาย พญาช้างฟังแล้วตกใจมาก ขอให้กระต่ายพาตนไปพบเทพจันทราเพื่อขอขมาที่ช้างทำผิดต่อฝูงกระต่าย กระต่ายจึงนัดให้พญาช้างไปพบเทพจันทราที่สระน้ำในเวลากลางคืน
             ตกเวลากลางคืนที่พระจันทร์เต็มดวง พญาช้างและกระต่ายน้อยได้ไปพบกันที่ริมสระน้ำ กระต่ายบอกให้พญาช้างเพ่งมองไปที่สระน้ำ ช้างมองเห็นเงาพระจันทร์ปรากฏอยู่ในสระน้ำซึ่งมีภาพกระต่ายอยู่กลางดวงจันทร์ด้วย พญาช้างจึงเชื่อว่ากระต่ายเป็นที่โปรดปรานของเทพจันทราจริง และในทันใดนั้นเงาของพระจันทร์ได้กระเพื่อมไปมาตามแรงลม กระต่ายบอกพญาช้างว่า เทพจันทรากำลังพิโรธโขลงช้าง ดังนั้น ภาพดวงจันทร์จึงสั่นไปมา เห็นทีช้างทั้งหมดจะต้องพินาศวอดวายในครั้งนี้เป็นแน่ พญาช้างรู้สึกตกใจกลัวจึงรีบขอขมาต่อเทพจันทราและสัญญาว่าจะพาโขลงช้างอพยพไปอยู่ที่อื่น จากนั้น โขลงช้างได้พากันอพยพไปอยู่ที่อื่นโดยไม่กลับมาที่สระน้ำนั้นอีกเลย ฝูงกระต่ายจึงอยู่เป็นสุขสืบมา ทั้งนี้ก็เพราะอาศัยกำลังปัญญาของกระต่ายหัวหน้าฝูงซึ่งแม้จะตัวเล็กกว่าแต่ก็สามารถขับไล่บรรดาช้างตัวใหญ่ให้หนีไปได้ นั่นแสดงว่า กำลังปัญญาประเสริฐกว่ากำลังทั้งหลาย
              เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงบริหารกิจการพระศาสนาด้วยพระกำลังปัญญา จึงทรงดำรงมั่นอยู่ในฐานะพระผู้นำและผู้บริหารสูงสุดของพุทธบริษัททั้งชาวไทยและชาวโลกต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึง ๒๔ ปี สมดังสร้อยพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สรรพคณิศรมหาประธานาธิบดี” ซึ่งหมายความว่า “ทรงเป็นประธานผู้เป็นใหญ่เหนือหัวหน้าคณะทั้งปวง” ด้วยเหตุนี้ ในการจัดงานวิสาขบูชาโลก ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ พระสังฆราช ประมุขสงฆ์และผู้นำชาวพุทธทั่วโลกได้มีมติเป็นสมานฉันท์ว่าจะมาประชุมร่วมกันเพื่อเจริญพระพุทธมนต์นานาชาติถวายพระพรชัยมงคลแด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศไทย ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชันษา ๑๐๐ ปี
               การจัดงานบำเพ็ญกุศล ๒๔ ปี การสถาปนา เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในวันนี้เป็นส่วนเบื้องต้นของงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี ที่คณะรัฐบาล คณะสงฆ์และประชาชนได้พร้อมใจกันจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นปี ๒๕๕๖ นับเป็นการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อองค์พระสังฆบิดรด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ซึ่งจะนำความเจริญวัฒนาสถาพรมาสู่ประเทศชาติ พระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์โดยส่วนเดียว สมดังพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตรที่ว่า “เย   เต   ภิกฺขู  เถรา  รตฺตญฺญู  จิรปพฺพชิตา  สงฺฆปิตโร  สงฺฆปรินายกา   เต   สกฺกริสฺสนฺติ ครุกริสฺสสนฺติ  เป็นต้น แปลความว่า “พวกภิกษุจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ รัตตัญญูคือมีพรรษายุกาลมาก บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่ตราบใด พึงหวังได้ว่าจะมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมตราบนั้น”
            สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธาและพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม ได้พระราชทานพระมหากรุณาให้การจัดงานบำเพ็ญกุศล ๒๔ ปี การสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขออำนาจพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นไปด้วยดีในหมู่สงฆ์ทั้งปวงนี้จงสัมฤทธิ์ประสิทธิ์ศุภผลเป็นพระพรชัยมงคลแด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมพระราชเจตนาปรารภทุกประการ
รับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในปัญญาปริหารกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


                                                                 ขอถวายพระพร
 

                                                  พระพรหมบัณฑิต 
                                     (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, ศ.,ดร.)
                           ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, 
กรรมการมหาเถรสมาคม, 
                        เจ้าคณะภาค ๒, เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

                        อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


 
 
 
 
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 113 คน
วันนี้ 1,702 คน
เมื่อวานนี้ 1,694 คน
เดือนนี้ 48,200 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,636,439 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob