แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บันทึกจากเจ้าอาวาส
เรื่อง...ปัณฑิตกถา
ว่าด้วยบัณฑิต
 
นโมตสฺสภควโตอรหโตสมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
ทิฏฺเธมฺเมโยอตฺโถ           โยจตฺโถสมฺปรายิโก
อตฺถาภิสมยาธีโร                    ปณฺฑิโตติปวุจฺจตีติ
                                                       (สํ.ส.๑๕/๓๘๐/๑๒๖)
           ณ บัดนี้จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในปัณฑิตกถา ว่าด้วยบัณฑิตฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแก่การบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร ๗ วัน พระราชทานอุทิศแก่ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ผู้ถึงแก่อนิจกรรม
ทั้งนี้ โดยทรงมีพระอนุสรณ์รำลึกนึกถึงคุณูปการที่ท่านท่านผู้หญิงได้บำเพ็ญไว้เป็นอเนกประการในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวารในวันนี้ 
           เหตุที่มีพระมหากรุณาธิคุณบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศให้ในครั้งนี้ก็เพราะคุณงามความดีของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ในยามที่มีชีวิตอยู่เป็นผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะ
๒ ประการ ก็คือ อัตตหิตสมบัติ และ ปรหิตปฏิบัติ 
           คุณลักษณะส่วนอัตตหิตสมบัติ คือคุณสมบัติส่วนตนอันเกิดจากการฝึกฝนอบรมตนเองด้วยการศึกษาในระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นอกจากนี้ ท่านผู้หญิงได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นที่เรียกว่า ปรหิตปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ภริยาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๐ ของประเทศไทยได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งทำหน้าที่แม่ที่ดีผู้อบรมเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้ง ๖ คนให้เจริญเติบใหญ่เป็นที่พึ่งแก่ตนเองและสังคม ในขณะที่สามีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านผู้หญิงจงกล
กิตติขจรก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ภริยาผู้สนับสนุนให้งานของสามีดำเนินไปอย่างดีด้วยการอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมนานาประการ เช่น เป็นประธานคณะกรรมการหาทุนของมูลนิธิราชประชาสมาสัย เป็นประธานมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลน ที่สำคัญคือเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ซึ่งต่อมามูลนิธินี้ได้อยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 
           คุณลักษณะส่วนปรหิตปฏิบัติอีกประการหนึ่งของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร คือการปฏิบัติหน้าที่ภริยาคู่ทุกข์คู่ยากผู้ยืนหยัดเคียงข้างสามีตลอดเวลาแม้ในยามที่สามีถูกโลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนามากระทบถูกต้อง ช่วยกันประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ช่วยดูแลรักษาใจของกันและกันให้หนักแน่นมั่นคง
มิได้ผันผวนขึ้นลงไปตามโลกธรรมที่มากระทบถูกต้อง สอดคล้องต้องตามพุทธภาษิตที่ว่าสุเขน ผุฏฺา อถวา ทุกฺเขน น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ แปลความว่า ไม่ว่าได้รับสุขหรือทุกข์บัณฑิตไม่แสดงอาการขึ้นๆลงๆ สมดังภาษิตอุทานธรรมที่ว่า
สุขและทุกข์มีอยู่คู่กับโลก                   จะย้ายโยกแห่งหนตำบลไหน
จะสุขบ้างทุกข์บ้างช่างเป็นไร จะทำใจให้เศร้าไม่เข้าการ
           คำว่า บัณฑิต ในทางพระศาสนาหมายถึงผู้มีปัญญาทั้งในทางโลกและในทางธรรม
ปัญญาในทางโลกหมายถึงความรู้ในการประกอบอาชีพการงานจนมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ส่วนปัญญาในทางธรรมหมายถึงความรู้ที่ช่วยประคองชีวิตให้อยู่ในทำนองคลองธรรมและช่วยให้รอดพ้นจากการถูกความทุกข์ขบกัด บัณฑิตที่แท้จริงจึงเป็นบุคคลที่ได้ทั้งประโยชน์ภายนอกและประโยชน์ภายใน ดังพระบาลีนิกเขปบทที่ยกไว้ ณ เบื้องต้นที่ว่า ทิฏฺเธมฺเมโยอตฺโถ เป็นต้น  แปลความว่า คนมีปัญญาท่านเรียกว่าบัณฑิตเพราะรู้ประโยชน์สองประการคือ ประโยชน์เฉพาะหน้า และประโยชน์ระยะยาว
               ประโยชน์เฉพาะหน้า คือทรัพย์ภายนอกที่ได้จากความรู้ในการประกอบอาชีพ
               ประโยชน์ระยะยาว คือทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์ที่ได้จากความรู้ในทางธรรม
               บัณฑิตคือคนที่รู้จักแสวงหาประโยชน์ ๒ ประการ คือ
               ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบันเฉพาะหน้า 
               สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์ระยะยาวหรือประโยชน์ชั้นสูง 
           ประโยชน์ปัจจุบันเฉพาะหน้าเป็นเรื่องของการแสวงหาทรัพย์ภายนอกที่เนื่องด้วยโลกธรรมที่น่าปรารถนาคือลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ส่วนประโยชน์ที่สูงกว่านั้น หรือประโยชน์ระยะยาวเรียกว่าสัมปทาหรือสมบัติ ๔ ประการ คือ
               ๑. สัทธาสัมปทา สมบัติคือศรัทธา 
               ๒. สีลสัมปทา สมบัติคือศีล 
               ๓. จาคสัมปทา สมบัติคือจาคะ 
               ๔. ปัญญาสัมปทา สมบัติคือปัญญา 
           ขอรับพระราชทานถวายวิสัชนาต่อไปว่า เมื่อบัณฑิตมีสมบัติภายในทั้ง ๔ ประการนี้
เขาจะไม่แสดงอาการขึ้นลงเมื่อถูกโลกธรรมที่ไม่น่าปรารถนาคือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ
นินทาและทุกข์มากระทบชีวิต ทั้งนี้เพราะสมบัติแต่ละอย่างช่วยสร้างความเข้มแข็งภาย
ในใจของบัณฑิต ดังนี้
           สมบัติข้อที่ ๑ คือ ศรัทธา ช่วยให้บัณฑิตเชื่อมั่นความหมายของชีวิตว่าเกิดมาทำไม
และจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ชีวิตของบัณฑิตเป็นชีวิตที่มีอุดมการณ์เพราะมีศรัทธามั่นคงในเป้าหมายของชีวิต ดังคนที่ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยก็จะอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา
คนที่จงรักภักดีมั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะอุทิศตนเพื่อปกป้องสถาบัน ชีวิตของบัณฑิตมีคุณค่าเพราะเขาได้ทำในสิ่งที่ศรัทธาและมีศรัทธาในสิ่งที่ทำ
           สมบัติข้อที่ ๒ คือ ศีล บัณฑิตไม่หวั่นไหวไปกับคำนินทาหรือข้อกล่าวหาต่างๆ
เพราะเขาเชื่อมั่นในความประพฤติที่ดีงามตามครรลองแห่งศีลธรรมของตนเอง ศีลทำให้บัณฑิตภาคภูมิใจในชีวิตที่งดงามของตนเอง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สีลํอาภรณํเสฏํ แปลความว่า ศีลเป็นอาภรณ์เครื่องประดับที่ประเสริฐสุด สมดังคำประพันธ์ที่ว่า 
คนจะงาม   งามน้ำใจ     ใช่ใบหน้า
คนจะสวย   สวยจรรยา   ใช่ตาหวาน
คนจะแก่    แก่ความรู้    ใช่อยู่นาน
คนจะรวย   รวยศีลทาน  ใช่บ้านโต
           สมบัติข้อที่ ๓ คือ จาคะ ได้แก่ความมีน้ำใจเสียสละเพื่อผู้อื่น ความเสียสละ
ของบัณฑิตย่อมไม่สูญเปล่าเพราะเขารู้จักเลือกคนที่เขาจะให้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ แปลความว่า การเลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ มนาปทายี
ลภเต มนาปํ ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจแก่เขาย่อมได้สิ่งที่น่าพอใจตอบ       ดังโคลงโลกนิติที่ว่า
ให้ท่านท่านจักให้          ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง        นอบไหว้
รักท่านท่านควรครอง      ความรักเรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้             แต่ผู้ทรชน
           สมบัติข้อที่ ๔ คือ ปัญญา หมายถึงรู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิตว่า เป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง ทุกขังคือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และอนัตตาคือไม่มีแก่นแท้ถาวรคือบัณฑิต
รู้เท่าทันลักษณะทั้งสามอย่างนี้แล้วรู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น เขาก็ไม่ถูกความทุกข์ขบกัดชีวิต ดังมีเรื่องเล่าว่า ลุงคนหนึ่งเลี้ยงม้าไว้หนึ่งตัว เป็นม้าที่สง่างามปราดเปรียว
           วันหนึ่งม้าตัวนั้นโดดหนีออกไปจากคอก หายเข้าไปในป่า เพื่อนบ้านต่างมาแสดงความเสียใจ
ลุงตอบทุกคนว่า  “อะไรมันก็ไม่แน่”
           ต่อมาไม่นาน ม้าตัวนั้นกลับมาที่คอกพร้อมกับพาม้าป่าตามมาด้วยอีกหนึ่งตัว
เพื่อนบ้านต่างมาแสดงความดีใจ
           ลุงตอบว่า  “อะไรมันก็ไม่แน่”
           ต่อมาไม่นาน ลูกชายของลุงขึ้นควบม้าป่า ม้าป่าพยศทำเอาลูกชายของลุงตกม้าขาหัก เพื่อนบ้านต่างมาแสดงความเสียใจ
           ลุงตอบว่า ”อะไรมันก็ไม่แน่”
           อยู่ต่อมา กองทัพประเทศเพื่อนบ้านยกมาประชิดชายแดน ทางการเกณฑ์คนหนุ่มในหมู่บ้านไปเป็นทหาร ทุกคนไปแล้วไปลับไม่รอดชีวิตกลับมาสักคนเดียว ทั้งหมู่บ้านเหลือเด็กหนุ่มอยู่คนเดียวคือลูกชายของลุง ทางการไม่ยอมเกณฑ์เอาไปเพราะเขาขาหัก
           ไม่ว่าได้รับสุขหรือทุกข์ บัณฑิตไม่แสดงอาการขึ้นลงเพราะ 
           (๑) มีศรัทธามั่นคงในสิ่งที่ทำ 
           (๒) มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนดีมีศีลธรรมของตน
           (๓) เมื่อล้มก็ยังมีคนช่วยประคองเป็นการตอบแทนจาคะคือความมีน้ำใจที่เคยเสียสละไว้ก่อน และ 
           (๔) มีปัญญา รู้จักปล่อยวางด้วยรู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิต
           ในยามที่มีชีวิตอยู่ ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นบัณฑิตผู้ได้ทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน คือ ได้ทรัพย์ภายนอกจากการรู้จักซื้อขายที่ดิน จนสามารถสร้างบ้านและอพาร์ทเม้นท์ที่ซอยระนอง ๒ เขตดุสิตนี้ และได้ทรัพย์ภายใน คือศรัทธา ศีล จาคะและปัญญา ดังจะเห็นได้ว่านอกจากการเป็นประธานมูลนิธิต่างๆ แล้ว ยังได้สร้างพระพุทธชินราชจำลองไปประดิษฐาน ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และที่สำคัญคือใช้ปัญญากำกับชีวิตให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีจนกระทั่งละสังขารจากโลกนี้
ไปด้วยวัย ๙๖ ปี
           ศรัทธา ศีล จาคะและปัญญานี้ ท่านเรียกว่า สัมปรายิกัตถะแปลว่าประโยชน์ในภายหน้า คือเป็นเสบียงบุญที่จะติดตามไปสู่ภพภูมิเบื้องหน้า ดังพระบาลีว่า ปุญฺานิ
ปรโลกสฺมึ ปติฏฺา โหนฺติ ปาณินํ แปลความว่า บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก สมดังคำประพันธ์ที่ว่า บุญเป็นเงาเฝ้าตามติด บุญเป็นมิตรในทุกที่ คอยช่วยเหลือเอื้ออารีห่างราคีปลอดโพยภัย บุญพิทักษ์บุญรักษา บุญนำพาพบสุขใส แม้ชีพลับดับล่วงไป
บุญส่งให้ถึงสวรรค์สุขาวดี 
           อิมินา กตปุญฺเน ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นไปด้วยดีในหมู่สงฆ์พระราชทานอุทิศแด่ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ในครั้งนี้ ขอจงมารวมกันเป็นตบะเดชะพลวปัจจัยสำเร็จเป็นอิฏฐวิบากสุขสมบัติ ทิพยสมบัติในสัมปรายภพสมพระราชเจตนาปรารภทุกประการ 
           รับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในปัณฑิตกถา พอสมควรแก่เวลา
ขอสมมติยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ 
        เอวํก็มีดัวยประการฉะนี้
 
 
 
 
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 88 คน
วันนี้ 1,276 คน
เมื่อวานนี้ 1,694 คน
เดือนนี้ 47,774 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,636,013 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob